Skip to content
Search
All products

4 เหตุผลที่ควรเลือกใช้ Universal Adhesive

ทพ. วรรณะ
2022-05-05

Universal Adhesive 

เมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว Dr. Michael G Buonocore ได้ทดลองใช้กรดฟอสฟอริกปรับสภาพผิวเคลือบฟัน ซึ่งส่งผลให้วัสดุบูรณะประเภทอคริลิกสามารถยึดติดกับผิวเคลือบฟันได้ดีขึ้น ต่อมาได้มีรายงานถึงประสิทธิภาพดังกล่าวว่า เป็นผลจากการแทรกซึมของเรซินเข้าไปยังร่องขรุขระของผิวเคลือบฟันภายหลังการปรับสภาพ เกิดเป็นกลไกการยึดทางกลระดับจุลภาค (micromechanical retention) การค้นพบดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาระบบสารยึดติดทางทันตกรรม ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยสามารถจำแนกระบบสารยึดติดตามรูปแบบวิธีใช้งานทางคลินิกออกได้เป็น ระบบที่ใช้กรดปรับสภาพผิวฟัน และมีการล้างกรดออกก่อน (etch-and-rinse หรือ total-etch) และระบบที่ใช้สารที่มีสมบัติเป็นกรดในการปรับสภาพผิวฟัน โดยไม่มีการล้างออก (etch-and-dry, etch-and-no rinse หรือ self-etch) ก่อนการทำงานขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ในแต่ละระบบก็ยังสามารถจำแนกตามจำนวนขั้นตอนการทำงาน ออกเป็นกลุ่มที่มีขั้นตอนแยกจากกัน และกลุ่มที่รวมขั้นตอนเข้าด้วยกัน ซึ่งหากพิจารณาโดยภาพรวมแล้ว สารยึดติดทุกกลุ่มจะมีรูปแบบการทำงานที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือประกอบด้วยขั้นตอนการใช้สารที่เป็นกรดปรับสภาพผิวฟัน (acid conditioner) การใช้สารช่วยส่งเสริมการยึดติด (adhesion promoting resin/primer) และการใช้สารเรซินยึดติด (bonding resin) ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละกลุ่มจะแยกใช้งานสารต่างๆ ในแต่ละขั้นตอน  หรือใช้สารที่รวมขั้นตอนการทำงาน ซึ่งแน่นอนว่าสารยึดติดกลุ่มที่รวมขั้นตอนการทำงาน (simplified adhesive) น่าจะตอบโจทย์ความต้องการของทันตแพทย์มากที่สุด เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว รวมทั้งหากสารยึดติดนั้นสามารถใช้งานได้หลากหลาย ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน และทุกรูปแบบวิธีใช้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาสารยึดติดที่เรียกว่า “สารยึดติดยูนิเวอร์ซัล (universal adhesive)” นั่นเอง (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 แผนภาพแสดงการจำแนกกลุ่มของสารยึดติดตามวิธีและขั้นตอนการใช้งาน

 

โดยนิยามแล้ว สารยึดติดยูนิเวอร์ซัลควรเป็นสารยึดติดที่สามารถใช้งานได้ง่าย สะดวก มีความหลากหลายในแง่ของข้อบ่งใช้ทางคลินิก โดยสามารถสรุปคุณสมบัติของสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลในด้านต่างๆ ได้ดังนี้

1. สามารถใช้งานได้ง่ายและสะดวก

              ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าสารยึดติดกลุ่มที่น่าจะสามารถใช้งานได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วมากที่สุด คือสารยึดติดที่รวมทุกขั้นตอนการทำงานเข้าด้วยกัน เหลือแค่การใช้งานสารเพียงขวดเดียว และไม่ต้องผสมก่อนใช้ (single-bottle, single-step, no-mix adhesive) ซึ่งหากพิจารณาแล้วสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลจะมีความคล้ายคลึงกับสารยึดติดระบบเซลฟ์เอทช์ 1 ขั้นตอน (one-step self-etch adhesive) หากแต่บริษัทผู้ผลิตได้พัฒนาสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลให้มีคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้น โดยการปรับปรุงส่วนประกอบ และ/หรือ ปรับสัดส่วนขององค์ประกอบต่างๆ ภายในสารยึดติด อาทิ ปรับสัดส่วนระหว่างองค์ประกอบที่ชอบน้ำหรือเข้ากันได้ดีกับน้ำ (hydrophilic components) และองค์ประกอบที่ไม่ชอบน้ำหรือไม่เข้ากับน้ำ (hydrophobic components) ให้เหมาะสม เพื่อให้สารยึดติดยูนิเวอร์ซัลสามารถทำปฏิกิริยากับผิวฟันซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีความชื้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้สารยึดติดนั้นมีสมบัติที่ไม่เข้ากับน้ำภายหลังเกิดปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรเซชัน อันจะส่งผลให้สารยึดติดมีความเสถียรในระยะยาว ไม่เกิดการสลายตัวเหตุน้ำ (hydrolysis) ดังเช่นที่พบในกรณีการใช้งานสารยึดติดระบบเซลฟ์เอทช์ 1 ขั้นตอน

              นอกจากนี้สารยึดติดยูนิเวอร์ซัลส่วนมากได้เลือกใช้มอนอเมอร์ทำงาน (adhesive functional monomer) หลักในองค์ประกอบ เป็น 10-MDP (10-methacryloyloxydecyl dihydrogen phosphate) นอกเหนือไปจากมอนอเมอร์ทำงานชนิดอื่นๆ (รูปที่ 2) โดย 10-MDP นั้นเป็นอนุพันธ์เอสเทอร์ของกรดฟอสฟอริก (phosphate ester) ซึ่งมีโครงสร้างทั้งส่วนที่ชอบน้ำและไม่ชอบน้ำอยู่ภายในโมเลกุล (amphiphilic structure) ทำให้สามารถเกิดการยึดติดได้ทั้งกับส่วนโครงสร้างของฟัน วัสดุบูรณะ รวมไปถึงวัสดุทางทันตกรรมชนิดอื่นๆ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป นอกจากนี้ลักษณะโมเลกุลของ 10-MDP นั้นมีโครงสร้างหลักของคาร์บอน (carbon chain backbone) ที่มีความยาวเหมาะสม รวมทั้ง 10-MDP มีค่าสัมประสิทธิ์การกระจายตัว (partition coefficient; log P) ที่สูงกว่ามอนอเมอร์ทำงานชนิดอื่นๆ ทำให้ 10-MDP ค่อนข้างเป็นมอนอเมอร์ที่ไม่ชอบน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดการพอลิเมอร์ไรเซชันแล้ว หรือเมื่อเกิดปฏิกิริยาเคมีกับโครงสร้างของฟัน ส่งผลให้สารยึดติดมีความเสถียรในระยะยาว

รูปที่ 2 ภาพแสดงลักษณะโมเลกุลของ 10-MDP

 

มอนอเมอร์อีกชนิดหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบในสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลเกือบทุกผลิตภัณฑ์ คือ HEMA (2-hydroxyethyl methacrylate) ซึ่งมีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ รวมทั้งมีค่าสัมประสิทธิ์การกระจายตัวน้อยมากเมื่อเทียบกับมอนอเมอร์อื่นๆ ทำให้ HEMA เป็นมอนอเมอร์ที่ชอบน้ำ แม้ว่า HEMA จะมีสมบัติเป็นตัวทำละลายร่วม (co-solvent) ระหว่างมอนอเมอร์ที่ชอบน้ำและมอนอเมอร์ที่ไม่ชอบน้ำ รวมถึงทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมการยึดติด ทำให้สารยึดติดสามารถไหลแผ่และแทรกซึมเข้าไปยังผิวเนื้อฟันที่มีความชื้นได้ดี แต่ HEMA ก็มีข้อเสียที่สำคัญคือ อมน้ำแม้เมื่อเกิดปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรเซชันแล้ว ทำให้สารยึดติดบวม เปลี่ยนสี และเกิดการสลายตัวเหตุน้ำได้ บริษัทผู้ผลิตจึงปรับสัดส่วนองค์ประกอบของสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลให้มี HEMA ในปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางบริษัทผู้ผลิตเลือกที่จะไม่เติม HEMA ลงไปในผลิตภัณฑ์ของตนเอง เพื่อประโยชน์ในแง่ความเสถียรระยะยาวของสารยึดติด อย่างไรก็ตามสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลที่ไม่มี HEMA เป็นองค์ประกอบนั้น จำเป็นต้องเขย่าขวด (กรณีบรรจุภัณฑ์แบบขวด) หรือใช้แปรงขนาดเล็กกวนสารยึดติดให้เข้ากัน (กรณีบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว; unit dose) ก่อนใช้งาน และควรใช้สารยึดติดทันทีเพื่อไม่ให้เกิดการแยกส่วนของมอนอเมอร์ที่เป็นองค์ประกอบ รวมทั้งควรเป่าชั้นสารยึดติดด้วยลมแรง และเป็นเวลาที่นานเพียงพอ เพื่อกำจัดรูพรุนรวมถึงน้ำที่หลงเหลืออยู่ในชั้นสารยึดติดด้วย

2.   สามารถใช้งานได้หลายรูปแบบวิธี

              สารยึดติดระบบเซลฟ์เอทช์ทั้งแบบ 2 ขั้นตอนและ 1 ขั้นตอน ที่มีความเป็นกรดไม่มากนักนั้น มีประสิทธิภาพในการยึดกับเนื้อฟันได้ดี แต่อาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอในกรณีการยึดกับเคลือบฟัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผิวเคลือบฟันที่ไม่ได้รับการกรอตัด (uncut enamel) วิธีหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพทางคลินิก คือการใช้กรดฟอสฟอริกปรับสภาพเฉพาะส่วนผิวเคลือบฟันก่อนการใช้งานสารยึดติดนั้นๆ ตามปกติ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ทางคลินิกที่ทันตแพทย์ต้องพบเจอนั้น มีทั้งส่วนเคลือบฟันและเนื้อฟันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหากกรดฟอสฟอริกที่ใช้ปรับสภาพนั้นสัมผัสกับส่วนเนื้อฟันก่อนการใช้งานสารยึดติด ก็อาจส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการยึดได้

              สารยึดติดยูนิเวอร์ซัลได้รับการพัฒนาทั้งในแง่องค์ประกอบ และระดับความเป็นกรด โดยเกือบทุกผลิตภัณฑ์จะมีความเป็นกรดอยู่ในระดับน้อย (mild; pH ~ 2) หรือน้อยมาก (ultra-mild; pH ≥ 2.5) ส่งผลให้การใช้งานสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลกับโครงสร้างของฟันนั้นสามารถใช้ได้หลากหลายวิธี (multi-mode) ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการใช้งานตามวิธีของสารยึดติดระบบเซลฟ์เอทช์ปกติ (self-etch mode) รูปแบบที่ใช้กรดฟอสฟอริกปรับสภาพเฉพาะส่วนผิวเคลือบฟันก่อน (selective-etch mode) หรือรูปแบบที่ใช้กรดฟอสฟอริกปรับสภาพทั้งส่วนเคลือบฟันและเนื้อฟัน (etch-and-rinse mode หรือ total-etch mode) (รูปที่ 3) ซึ่งไม่ว่าจะใช้งานสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลในรูปแบบวิธีใด ก็ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพการยึดติดที่ดีกับทั้งส่วนเคลือบฟันและเนื้อฟัน

รูปที่ 3 ภาพแสดงวิธีการใช้งานสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลในรูปแบบต่างๆ

อย่างไรก็ตาม รายงานการศึกษาที่เปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้งานในรูปแบบต่างๆ ได้เสนอแนะให้ใช้งานสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลในรูปแบบที่ทำการปรับสภาพผิวเคลือบฟันด้วยกรดฟอสฟอริก (etch-and-rinse mode หรือ selective-etch mode) ในกรณีที่บริเวณทำงานมีเฉพาะส่วนของเคลือบฟัน หรือมีส่วนเคลือบฟันเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการยึดอยู่ (retention) และความแนบสนิทบริเวณขอบของวัสดุบูรณะ (marginal adaptation) รวมถึงมีการติดสีบริเวณขอบของวัสดุบูรณะ (marginal discoloration) ที่น้อยลงด้วย โดยระยะเวลาที่แนะนำให้ทันตแพทย์ใช้กรดฟอสฟอริกปรับสภาพผิวเคลือบฟันนั้นอาจไม่จำเป็นต้องกำหนดแน่นอน แต่ทั้งนี้ไม่ควรเกิน 15 วินาที ซึ่งหลังจากล้างกรดออกแล้ว ให้เป่าลมบริเวณทำงานให้แห้ง และทาสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลโดยไม่จำเป็นต้องถูขยี้ที่ผิวเคลือบฟัน แต่หากกรณีบริเวณทำงานนั้นมีเฉพาะส่วนเนื้อฟัน หรือมีส่วนเคลือบฟันอยู่เพียงเล็กน้อย แนะนำให้ใช้สารยึดติดยูนิเวอร์ซัลในรูปแบบการใช้งานระบบเซลฟ์เอทช์ (self-etch mode) โดยแนะนำให้ทาแบบถูขยี้ (active application) ด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสารยึดติด รวมถึงการเกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างมอนอเมอร์ทำงานและไฮดรอกซีแอปาไทต์ที่ผิวฟันให้มากขึ้น

3. สามารถยึดติดได้กับวัสดุหลายประเภท

              นอกเหนือจากการยึดกับโครงสร้างของฟันแล้ว สารยึดติดยูนิเวอร์ซัลยังมีคุณสมบัติที่สามารถเกิดปฏิกิริยาเคมีเพื่อให้เกิดการยึดกับวัสดุทางทันตกรรมหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นโลหะทางทันตกรรมทั้งกลุ่มที่มีตระกูล (noble alloys) และกลุ่มที่ไม่มีตระกูล (non-precious alloys) รวมไปถึงเซรามิกทางทันตกรรมทั้งแบบที่มีซิลิกาเป็นองค์ประกอบ (predominantly glassy ceramics with high glass content และ particle-filled glass with a variable amount of glass content) และแบบที่ไม่มีซิลิกาเป็นองค์ประกอบ (polycrystalline ceramics without glass content)

              สารยึดติดยูนิเวอร์ซัลจะทำหน้าที่เสมือนเป็นสารที่ช่วยส่งเสริมการยึดติดกับผิววัสดุนั้นๆ (adhesive primer) โดยกรณีการยึดกับโลหะที่ไม่มีตระกูลและเซรามิกที่ไม่มีซิลิกาเป็นองค์ประกอบ เช่นเซอร์โคเนีย (zirconia) นั้นเป็นผลของการยึดทางเคมีจากมอนอเมอร์ทำงานที่เป็นองค์ประกอบในสารยึดติด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 10-MDP อย่างไรก็ตามมีรายงานการศึกษาที่แนะนำให้เตรียมผิววัสดุดังกล่าวให้ขรุขระโดยการพ่นทราย (sandblast) ก่อนการใช้สารยึดติดยูนิเวอร์ซัล เพื่อช่วยส่งเสริมให้เกิดการยึดทางกลระดับจุลภาค รวมทั้งภายหลังการลองชิ้นงานในช่องปาก อาจมีคราบน้ำลายปนเปื้อนอยู่ที่ผิววัสดุ ซึ่งฟอสเฟตไอออนในน้ำลายสามารถเกิดปฏิกิริยาเคมีกับมอนอเมอร์ทำงานที่เป็นอนุพันธ์เอสเทอร์ของกรดฟอสฟอริกในสารยึดติดได้ ส่งผลให้การยึดทางเคมีของมอนอเมอร์ดังกล่าวกับผิววัสดุเกิดขึ้นน้อยลง การพ่นทรายจะช่วยทำความสะอาด และกำจัดคราบปนเปื้อนที่ผิววัสดุก่อนการยึด ทำให้วัสดุมีพลังงานอิสระที่ผิว (free surface energy) สูงขึ้น อันเป็นการเพิ่มความสามารถในการไหลแผ่ของสารยึดติดด้วย ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ทันตแพทย์ทำความสะอาดผิววัสดุด้วยกรดฟอสฟอริก ด้วยเหตุผลที่ฟอสเฟตไอออนจะหลงเหลือบนพื้นผิวแม้ภายหลังการล้างกรดออกแล้ว ทำให้มอนอเมอร์ทำงานไม่สามารถเกิดปฏิกิริยาเคมีกับผิววัสดุโดยตรงได้เช่นเดียวกัน

              สารยึดติดยูนิเวอร์ซัลบางผลิตภัณฑ์มีการเติมไซเลน (silane) ในองค์ประกอบ ซึ่งอาจช่วยทดแทนการใช้สารคู่ควบไซเลน (silane coupling agent หรือ ceramic primer) ในกรณีการยึดกับเซรามิกที่มีซิลิกาเป็นองค์ประกอบ (รูปที่ 4) อย่างไรก็ตามรายงานวิจัยจำนวนมากยังแนะนำให้ใช้สารคู่ควบไซเลนต่างหากก่อนการใช้สารยึดติด เนื่องจากไซเลนที่เป็นองค์ประกอบในสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลนั้นอาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอในการช่วยส่งเสริมการยึดทางเคมีกับเซรามิกชนิดดังกล่าว ในการทำงานทางคลินิกนั้นจึงแนะนำให้ทันตแพทย์ปรับสภาพผิวเซรามิกที่มีซิลิกาเป็นองค์ประกอบด้วยกรดไฮโดรฟลูออริกและทาสารคู่ควบไซเลน ก่อนการใช้สารยึดติดยูนิเวอร์ซัล

รูปที่ 4 ภาพแสดงลักษณะโมเลกุลของไซเลน

กรณีพื้นผิวของโลหะมีตระกูลซึ่งไม่ว่องไวทางเคมี (chemical inert) ในการเกิดปฏิกิริยากับสารยึดติดนั้น จำเป็นต้องอาศัยมอนอเมอร์ที่มีซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบ (sulfur-containing monomers) สารยึดติดยูนิเวอร์ซัลบางผลิตภัณฑ์มีการเติมมอนอเมอร์ดังกล่าว เช่น MDTP (Methacryloyloxydecyl dihydrogen thiophosphate) ซึ่งเป็นอนุพันธ์เอสเทอร์ของกรดไธโอฟอสฟอริก โดยมอนอเมอร์ทำงานนี้สามารถเกิดปฏิกิริยาทางเคมีกับทองซึ่งเป็นองค์ประกอบของโลหะมีตระกูลได้ (รูปที่ 5)

รูปที่ 5 ภาพแสดงลักษณะโมเลกุลของ MDTP

 

กล่าวโดยสรุปถึงข้อเสนอแนะในการใช้สารยึดติดยูนิเวอร์ซัลกับวัสดุทางทันตกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากโครงสร้างของฟันนั้น ทันตแพทย์ควรเตรียมพื้นผิวที่จะทำการยึดให้เกิดความขรุขระด้วยวิธีที่เหมาะสมสำหรับวัสดุแต่ละประเภท จากนั้นแนะนำให้ใช้สารส่งเสริมการยึดติด (metal primer หรือ ceramic primer) ก่อนการใช้สารยึดติดยูนิเวอร์ซัล เพื่อประสิทธิภาพในการยึดที่ดีที่สุด การใช้สารยึดติดยูนิเวอร์ซัลแทนที่สารส่งเสริมการยึดติดนั้น “อาจ” เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการทำงานทางคลินิกเท่านั้น ทั้งนี้ควรศึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้งานสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลแต่ละผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด

4. มีความเข้ากันได้กับวัสดุเรซินชนิดบ่มตัวด้วยปฏิกิริยาเคมี หรือบ่มตัว 2 รูปแบบ (self-cure or dual-cure resin materials)

              ในการยึดชิ้นงานที่เตรียมขึ้นจากห้องปฏิบัติการ (indirect restorations) กับฟันหลักนั้น จำเป็นต้องอาศัยเรซินซีเมนต์ (ร่วมกับสารยึดติด) โดยอาจเป็นเรซินซีเมนต์ชนิดบ่มตัวด้วยปฏิกิริยาเคมี หรือชนิดที่บ่มตัว 2 รูปแบบก็ได้ โดยหากมีการใช้งานร่วมกับสารยึดติดนั้น จะต้องมีความหนาของชั้นสารยึดติดภายหลังเกิดปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรเซชัน (film thickness) ที่น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้ขัดขวางการยึดชิ้นงาน นอกจากนี้สารยึดติดจะต้องไม่มีความเป็นกรดมากเกินไป ซึ่งอาจยับยั้งเอมีนตติยภูมิ (tertiary amines) ในกระบวนการเกิดปฏิกิริยาบ่มตัวของเรซินซีเมนต์ชนิดดังกล่าวได้

              สารยึดติดยูนิเวอร์ซัลส่วนใหญ่มีความเป็นกรดไม่มากนัก จึงไม่ขัดขวางปฏิกิริยาบ่มตัวของเรซินซีเมนต์เมื่อใช้งานร่วมกัน รวมไปถึงการปรับสัดส่วนและองค์ประกอบของสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลที่ทำให้มีสมบัติไม่เข้ากับน้ำภายหลังเกิดปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรเซชัน จึงไม่เกิดการแพร่ของน้ำจากเนื้อฟันผ่านชั้นสารยึดติดมายังพื้นผิวบริเวณรอยต่อกับเรซินซีเมนต์ ส่งผลให้ปฏิกิริยาบ่มตัวของเรซินซีเมนต์เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามการใช้งานร่วมกันระหว่างสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลและวัสดุเรซินชนิดบ่มตัวด้วยปฏิกิริยาเคมี หรือบ่มตัว 2 รูปแบบนั้น จำเป็นต้องศึกษาคำแนะนำในการใช้งานโดยละเอียด บางบริษัทผู้ผลิตระบุให้ผสมสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลกับสารกระตุ้นปฏิกิริยา (dual-cure activator หรือ self-cure activator) ก่อนใช้งาน เว้นเสียแต่จะใช้ร่วมกับเรซินซีเมนต์ชนิดที่ไม่มีเอมีนตติยภูมิเป็นส่วนประกอบ (amine-free resin cements) รวมถึงบางบริษัทผู้ผลิตระบุให้ฉายแสงสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลก่อน ซึ่งทันตแพทย์ควรคำนึงถึงความหนาของชั้นสารยึดติดภายหลังเกิดปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรเซชันด้วย

             

              ในช่วงระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา สารยึดติดยูนิเวอร์ซัลได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อให้มีคุณลักษณะครบถ้วนตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น เพื่อประโยชน์สูงสุดทั้งต่อทันตแพทย์ให้สามารถใช้งานได้ง่ายและสะดวก รวมไปถึงมีประสิทธิภาพในการยึดติดที่ดีและมีเสถียรภาพในระยะยาวอันจะส่งผลดีต่อผู้ป่วย หลายบริษัทผู้ผลิตยังพยายามค้นคว้าและปรับปรุงสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลของตนเองให้มีจุดเด่นและข้อได้เปรียบอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิเช่น

(1)    การใช้ตัวทำละลายร่วมอื่นๆ นอกเหนือจากเอทานอล (ethanol) เช่น อะซีโตน (acetone), ไอโซโพรพานอล (isopropanol) ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในแง่การคงสภาพของมอนอเมอร์ที่เป็นองค์ประกอบ รวมถึงช่วยในแง่การระเหยออกของน้ำจากชั้นสารยึดติดขณะเป่าลมด้วย

(2)    การใส่มอนอเมอร์ทำงานอื่นๆ ในส่วนประกอบ เพื่อให้สารยึดติดยูนิเวอร์ซัลสามารถยึดกับโครงสร้างของฟันและวัสดุทางทันตกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น 4-META (4-methacryloxyethyl trimellitic anhydride), PENTA-P (dipentaerythritol penta-acrylate monophosphate), MTU-6 (6-methacryloyloxyhexyl-2-thiouracil-5-carboxylate) เป็นต้น รวมไปถึงการพัฒนามอนอเมอร์ชนิดใหม่ๆ ที่สามารถเข้ากันได้ดีกับน้ำ ทำให้สามารถไหลแผ่ไปบนผิวฟันได้ง่าย และในขณะเดียวกันก็สามารถเกิดการเชื่อมโยงระหว่างโมเลกุล (crosslink) ได้อย่างมีประสิทธิภาพขณะเกิดปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรเซชัน ทำให้สารยึดติดมีความเสถียร ไม่เกิดการสลายตัวเหตุน้ำในระยะยาว ตัวอย่างเช่น bisacrylamide monomer

(3)    การผลิตสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลในรูปแบบที่บ่มตัวด้วยปฏิกิริยาเคมี (self-cure universal adhesive) โดยการใส่สารเร่งกระบวนการ (catalyst) เพื่อให้สารยึดติดเกิดปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรเซชันได้เองภายหลังจากถูกปิดทับด้วยวัสดุบูรณะเรซินคอมโพสิต หรือเรซินซีเมนต์ที่ใช้ยึดชิ้นงานที่เตรียมขึ้นจากห้องปฏิบัติการ (contact cure) ซึ่งน่าจะช่วยให้ทันตแพทย์ไม่ต้องกังวลเรื่องความหนาของชั้นสารยึดติดที่อาจส่งผลต่อความแนบสนิทขณะยึดชิ้นงาน

(4)    บางบริษัทผู้ผลิตแนะนำให้ใช้สารยึดติดยูนิเวอร์ซัลในรูปแบบระบบเซลฟ์เอทช์โดยไม่ต้องรอเวลาให้สารยึดติดทำปฏิกิริยากับผิวฟัน ซึ่งสามารถฉายแสงได้ทันทีภายหลังเป่าลม (no-waiting self-etch mode) แม้ว่าแนวคิดดังกล่าวจะน่าสนใจ แต่ระยะเวลาเพียง 2-3 วินาทีที่สารยึดติดสัมผัสกับผิวฟันก่อนการเป่าลมนั้น อาจไม่เพียงพอให้สารยึดติดทำปฏิกิริยาขึ้นอยู่กับสมบัติของสารยึดติดนั้นๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของสารยึดติดในระยะยาวได้ นอกจากนี้ยังไม่มีรายงานการศึกษาถึงประสิทธิภาพของสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลที่ใช้ตามแนวคิดดังกล่าวในรูปแบบที่ใช้กรดฟอสฟอริกปรับภาพผิวฟันก่อน และกรณีผิวฟันที่มีชั้นสเมียร์ (smear layer) ปกคลุมค่อนข้างหนา จึงจำเป็นที่ทันตแพทย์จะต้องติดตามผลการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

สารยึดติดยูนิเวอร์ซัลที่มีการใช้สารเรซินทาทับอีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากมีรายงานการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการใช้สารที่มีองค์ประกอบเป็นมอนอเมอร์ที่ไม่เข้ากับน้ำ ทาทับลงไป (hydrophobic layer) บนสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลที่อาจจะฉายหรือไม่ฉายแสงก่อนนั้น สามารถลดรูพรุนที่อยู่ในชั้นสารยึดติดยูนิเวอร์ซัล รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการยึดในระยะยาวได้ บริษัทผู้ผลิตจึงพัฒนาสารยึดติดยูนิเวอร์ซัล (รูปที่ 6) ให้มีขั้นตอนการใช้งานเป็นแบบระบบเซลฟ์เอทช์ 2 ขั้นตอน (two-step self-etch adhesive) หรือหากใช้กรดฟอสฟอริกปรับสภาพผิวฟันก่อน ก็จะมีการใช้งานในรูปแบบหลายขั้นตอน (multi-bottle system) โดยสารที่ใช้ในขั้นตอนแรกนั้นมีคุณสมบัติต่างๆ คล้ายกับสารยึดติดยูนิเวอร์ซัลดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น รวมทั้งไม่มี HEMA เป็นองค์ประกอบ อันเป็นการลดการสลายตัวเหตุน้ำของสารยึดติดได้ การใช้งานสารดังกล่าวนี้เสมือนเป็นการใช้สารช่วยส่งเสริมการยึดติด (primer) ซึ่งไม่ต้องทำการฉายแสง จากนั้นทาสารเรซินทับลงไป แล้วจึงทำการฉายแสงก่อนเริ่มขั้นตอนการบูรณะ สารเรซินที่ใช้ในขั้นตอนนี้จะมีองค์ประกอบเฉพาะเป็นมอนอเมอร์ที่ไม่เข้ากับน้ำและไม่มี HEMA เป็นองค์ประกอบ เพื่อให้สามารถเกิดปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรเซชันร่วมกับเรซินคอมโพสิตได้อย่างสมบูรณ์

รูปที่ 6 ภาพแสดงผลิตภัณฑ์สารยึดติดยูนิเวอร์ซัลที่เพิ่มขั้นตอนการทาสารเรซินทับอีกชั้นหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า ณ ปัจจุบัน มีการพัฒนาของสารยึดติดออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สะดวกต่อทันตแพทย์ขณะใช้งาน รวมถึงเกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยด้วย สารยึดติดยูนิเวอร์ซัลได้รับการคิดค้นและถูกปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในทุกๆ ด้าน จึงจัดว่าเป็นกลุ่มของสารยึดติดที่น่าสนใจและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้งานทางคลินิก อย่างไรก็ตามการใช้วัสดุทางทันตกรรมไม่ว่าประเภทใดก็ตาม ทันตแพทย์ควรศึกษาวิธีใช้และปฏิบัติตามคำแนะนำจากบริษัทผู้ผลิต รวมถึงติดตามรายงานวิจัยประกอบการใช้งานด้วย

 

บรรณานุกรม

1.           Alex G. Universal adhesives: the next evolution in adhesive dentistry? Compend Contin Educ Dent 2015; 36(1): 15-26.

2.           Lawson NC, Robles A, Fu CC, et al. Two-year clinical trial of a universal adhesive in total-etch and self-etch mode in non-carious cervical lesion. J Dent 2015; 43(10): 1229-1234.

3.           Tsujimoto A, Fischer N, Barkmeier W, et al. Effect of reduced phosphoric acid pre-etching times on enamel surface characteristics and shear fatigue strength using universal adhesives. J Adhes Dent 2017; 19(3): 267-275.

4.           Huang XQ, Pucci CR, Luo T, et al. No-waiting dentine self-etch concept – merit of hype. J Dent 2017; 62: 54-63.

5.           Tichy A, Hosaka K, Yang Y, et al. Can a new HEMA-free two-step self-etch adhesive improve dentin bonding durability and marginal adaptation? J Adhes Dent 2021; 23(6): 505-512.